emergen

การเตรียมการและการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน (Emergency preparedness and response) สำหรับ OH&S

อะไรคือเหตุฉุกเฉิน (Emergency)

ฉุกเฉินคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่ได้มีการคาดคิดมาล่วงหน้า โดยเหตุฉุกเฉิน ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าอุบัติภัยต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อใด บางครั้งอุบัติภัยหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงโดยที่ไม่มีการแจ้ง เตือนล่วงหน้าใดๆ หรือมีสิ่งบ่งชี้ล่วงหน้าให้ทราบเพียงเล็กน้อย คำว่าฉุกเฉินมีความคล้ายกับคำว่า ฉุกละหุก (หมายความตาม พจนานุกรม : สับสนวุ่นวายเพราะมีเรื่องเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนโดยไม่คาดฝัน)  

คำว่า ฉุกเฉิน ( emergency ) ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง [ที่เป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วนและจะต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน]

เหตูฉุกเฉิน/ภาวะ ฉุกเฉิน คือ เหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทันทีทันใด ทำให้เกิดการเสียหายต่อชีวิต บาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภาย นอกสถานประกอบการ รวมถึงความปลอดภัยผลิตภัณฑ์

คำว่าฉุกเฉินจึงหมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน (รวมทั้งอาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด หรือ รวมทั้งสภาวะเหตุหรือไม่ก็ได้) ซึ่งมักต้องการการลัดตัดขั้นตอนสายงานบังคับบัญชา ระบบการทำงาน หรือระบบการปฏิบัติการที่เป็นปกติประจำวัน (เราจะไม่ใช้ระบบปกติไปจัดการกับสิ่งผิดปกติ) เพื่อจัดการกับภัยพิบัตินี้อย่างรวดเร็วและฉับพลัน จะมารอผ่านการอนุมัติตามสายงานไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมักต้องมีสาย งานบังคับบัญชาพิเศษเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น และต้องมีกรอบแนวทางวิธีการจัดการกับสิ่งนั้นไว้ในยามเกิดเหตุไว้

หากเราสามารถรู้ล่วงหน้าได้หรือคาดการณ์ได้ หรือสิ่งนั้นหากเกิดขึ้น จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตหรือไม่ก่อให้เกิดความปลอดภัยพนักงานที่มิอาจควบคุมได้ ก็ไม่ต้องถือเป็นเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีแผนรองรับ

ทำไมต้องมีแผน

แผน (plan) คือ การกำหนดวิธีการในการปฏิบัติงานในอนาคต เพื่อให้งานสำเร็จเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย โดยหลักๆจะมีการกำหนดว่า จำทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ทำอย่างไร และใครเป็นคนทำ

แผน คือสิ่งคิดว่า”ตัองทำ”ไว้ล่วงหน้า ให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องกระทำระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน การจัดการในเรื่องแผนฉุกเฉินที่ดีจะช่วยให้ลดการบาดเจ็บ หรือลดความรุนแรง และลดการเสียหายได้ ในทางกลับกันหากแผนไม่ได้รับการจัดการไว้เป็นอย่างดี อาจจะทำให้เกิดการสับสนวุ่นวายระหว่างตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วย ล้มตาย ทำให้สินค้าเสียหาย โดยไม่จำเป็นได้ ซึ่งแผนจะเน้นเรื่องใดต้องแล้วแต่กรอบงานที่สนใจ ไม่ว่า เรื่องของคน เรื่องทรัพสินย์ เรื่องความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ เรื่องสิ่งแวดล้อม

การระบุชี้บ่งสถานการณ์ที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินได้      

สิ่งแรกที่ต้องทำคือการระบุอุบัติการณ์ อุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาวะการปฏิบัติงานตามปกติ และ ในระหว่างเหตุการณ์เช่นการเริ่มเดินเครื่องจักร การหยุดเครื่องจักร เหตุการณ์อื่นๆที่ไม่เป็นไปตามการปฏิบัติงานตามปกติ และเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรเช่นภัยพิบัติต่างๆ

มีแนวทางหลากหลายที่สามารถนำมาใช้ระบุเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ดังตัวอย่างเช่น

  • ทบทวนอุบัติการณ์ที่บันทึกในไว้ 5 ปีที่ผ่านมา
  • ตรวจสอบสถิติประเภทอุบัติการณ์และเหตุฉุกเฉินที่เคยเกิดขึ้นรวมทั้งพื้นที่ เวลาที่เกิด กะ(shifts) สภาพการปฏิบัติการ สภาพอากาศและปัจจัยสำคัญอื่นๆ (รวมทั้งที่เคยเกิดในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน)
  • ทบทวนประเด็นปัญหาที่อาจเกิดเป็นเหตุฉุกเฉินได้ภายใต้สภาพการปฏิบัติงานที่ผิดปกติ
  • ระดมความคิดจากกลุ่มบุคคลที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินและอุบัติการณ์ที่เป็นไปได้
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเฉพาะ ที่กำหนดให้องค์กรต้องจัดทำแผนฉุกเฉินและซักซ้อม

ขั้นตอนปฏิบัติในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

ก่อนที่จะเริ่มวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน ผู้วางแผนจะต้องทราบถึงชนิดของเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสถานประกอบการณ์และรวมถึงบริเวณทีมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้มากทีสุดเสียก่อน

พื้นที่ที่อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ดังกล่าว ต้องได้รับการกำหนดผังแผนที่ไว้ให้ชัดเจนและ   จัดอุปกรณ์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินไว้ใกล้ๆ พื้นที่ใกล้เคียงที่อาจเสียหายได้จากเหตุการณ์ฉุกเฉินในโรงงานควรระบุและทำเครื่องหมายไว้บนแผนที่ สำหรับการแจ้งให้ทราบอย่างรวดเร็วหรือกระทำการใดๆถ้าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ควรมีการระบุทิศทางของลมไว้บนแผนที่เพื่อกำหนดพื้นที่ใต้ลมที่เป็นไปได้มากที่สุด

การจัดการกับเหตุฉุกเฉินต้องเป็นอย่างไร

ระบบการจัดการกับเหตุฉุกเฉินนี้ควรได้รับการระบุและจัดการกับ เหตุฉุกเฉินที่มาจากคนและเหตุภัยธรรมชาติ องค์ประกอบที่สำคัญในการจัดการเหตุฉุกเฉินจะมี 4 ประเด็นได้แก่

  1. การป้องกัน (Prevention)  
  2. การเตรียมการ (Preparedness)
  3. การตอบสนอง/ตอบโต้ (Response)
  4. ฟื้นฟูเยียวยา (Recovery)

ในส่วนการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และ การฟื้นฟูเยียวยา ไม่มีใครคาดให้เกิดและเกิดจริงไม่บ่อย (หวังว่าไม่บ่อย !) เมื่อเกิดไม่บ่อย ท่านจะคาดการณ์สถานการณ์และควบคุมผลกระทบได้ลำบาก ท่านจึงต้องเน้นที่การป้องกัน และ เตรียมการ ไม่ใช่การรั้งรอเพื่อตอบสนองต่อการเกิดเหตุจริง !! และเป็นสิ่งสุดท้ายที่คาดหวังว่าจะมีมการนำไปปฏิบิติ

การเข้มงวดกับ “การป้องกัน”และ”การเตรียมการ” เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่เราตระเตรียมจัดการเตรียมพร้อมได้ล่วงหน้า เหตุฉุกเฉินมักเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง หรือเกิดขึ้นไม่ตรงกับที่คาดการณ์อยู่เสมอ การตอบโต้เป็นสิ่งที่ไม่มีความไม่แน่นอนสูง

“การป้องกัน”และ”การเตรียมการ” เพื่อไม่ให้เหตุฉุกเฉินจริงเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ต้อง ”ป้องกันการเกิดไฟไหม้” มากกว่า ”อพยพหนีไฟ หรือดับไฟ” ต้องป้องกันไม่ให้”เกิดสารเคมีหกล้น” มากกว่า “ตอบสนองต่อการเกิดสารเคมีหกล้น”

ไม่ว่าอย่างทั้ง 4 ส่วนนี้ ต้องได้รับการพิจารณา และอยู่ในระบบการจัดการกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิด

ระยะก่อนเกิดเหตุ ป้องกันและเตรียมการ

การเตรียมระบบความปลอดภัยของอาคารและการทำงาน

การจัดเตรียมระบบความปลอดภัยในอาคารสถานที่

  • การจัดเตรียมอาคารสถานที่
  • การเลือกตำแหน่งที่ตั้ง ต้องห่างจากชุมชน ส่วนอันตรายต้องมีป้องกันจากการแผ่รังสีความร้อน ลูกไฟของสารเคมีที่ระเบิด จุดพื้นที่ระเบิดควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทางเข้าสะดวก ระยะห่างระหว่างอาคารป้องกันการล้มทับ
  • การออกแบบอาคาร ง่ายต่อการอพยพ มีหลายชั้นหรือชั้นเดียว อาคารหน่วยผลิตที่มีสารไวไฟออกจากอาคารอื่นๆ กำแฟงกันไฟ การป้องกันควันไฟ แสงสว่างในทางหนีไฟ
  • การเลือกอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันการระเบิดลุกไหม้ การป้องกันการลัดวงจร
  • วัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในอาคาร การวาบไฟ การจุดติดไฟ การลามไฟ การให้ควัน การปราศจากก๊าซพิษ
  • การติดตั้งสัญญาณแจ้งเหตุอันตราย ตามกฎหมายและตามความจำเป็น ซึ่งรวมถึงระบบสัญญาณแจ้งเหตุและสัญญาณประกาศภาวะฉุกเฉิน
  • การจัดเตรียมอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉิน เช่น
  • อุปกรณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ( อุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง ผ้าห่มดับเพลิง ถังเก็บน้ำ แหล่งน้ำ การวางท่อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอิสระซึ่งสำรองกรณีไฟฟ้าดับ หัวจ่ายดับเพลิง สายดับเพลิง ข้อต่อ หัวสูบ ระบบท่อยืนและท่อดันน้ำ)
  • อุปกรณ์ช่วยชีวิต หน้ากากหายใจ ชุดปฐมพยาบาล ตู้ยา เครื่องช่วยหายใจ แผ่นกระดานเคลื่อนย้ายผุ้ป่วย อุปกรณ์หรับสารพิษ (อ่างล้ามมือ ฝักบัวฉุกเฉิน )
  • การจัดเก็บสารอันตราย สารที่ระเบิด         การจัดเก็บตามชนิดและปริมาณที่กำหนด การติดป้ายเตือน การควบคุมการเข้าถึง

การจัดเตรียมมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน

ประกอบด้วย

1   มาตรฐานมาตรการในการทำงาน มีไว้เพื่อลดการเกิดความผิดพลาดจากคน และ

2. ระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องมี พื้นที่อันตราย พื้นที่หวงห้าม (พื้นที่อันตราย เช่น พื้นที่มีก๊าซไวไฟ ก๊าซพิษ , พื้นที่หวงห้ามเพื้อป้องกันการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่เข้าไปในบริเวณนั้นเช่น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ บริเวณเก็บสารเคมี แนวท่อลำเลียง บริเวณกระแสไฟฟ้าแรงสูง )

การจัดเตรียมศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน

มาตรฐานศุนย์ควบคุมเหตุนี้ จะมากน้อยที่ต้องเตรียมก็แล้วแต่เหตุที่อาจเกิด เช่นหากองค์กรท่านไม่มีสารเคมี สารระเบิดได้ ก็ไม่ต้องกังวลหรือต้องตระเตรียมใด

  • ที่ตั้งศูนย์นี้ ต้องสามารถ อยู่ห่างจาก เชื้อเพลิง หรือสารที่ระเบิด         ต้องสามารถสกัดกั้น ลุกลาม มาที่ศุนย์นี้ได้
  • สถานที่นี้จะใช้เป็นศุนย์กลางในการสั่งการ ซึ่ง สถานที่ตั้งอาจเป็น สำนักงาน ป้อมยาม ห้องใต้ดิน ต้อง เข้าออกง่าย มีความเสี่ยงน้อยสุดในการล้มเหลวหรือกระทบต่ออุบัติภัย
  • สถานที่ควรเป็นจุดที่เห็นเหตุการณ์มากสุด หากเหตุฉุกเฉินคือกาซพิษ ให้มีสองแห่งตามทิศทางลม
  • เนื้อที่ ต้องกว้างขวางพอ ห้องมีทนไฟ ทนทานต่อความร้อน หรือ แรงระเบิดได้ หรือมีระบบควบคุมอากาศในกรณีเกิดสารพิษ
  • ต้องมีพื้นที่พอในการใช้เป็นส่วนบริเวณสื่อสาร สั่งการ สนับสนุน
  • ขนาดห้องต้องใหญ่พอ อาจต้องมี ห้องอาหาร ห้องนอน ห้องน้ำ ตู้ยา อุปกรณ์
  • ข้อมูลในห้อง ที่ต้องมีพร้อมเช่น แผนผังบังคับบัญชา รายชื่อ หน่วยงานและติดต่อ
  • แผนผังสถานประกอบการ ที่เก็บอุปกรณ์ปลอดภัย ที่ตั้ง สารเคมี สารไวไฟ
  • แผนผังชุมชน หน่วยงาน โทรศัพท์
  • มี วิทยุติดต่อสื่อสาร มี ไฟแสงสว่างฉุกเฉิน แผงควบคุมต่างๆ ตามความจำเป็น

การจัดองค์กรรับเหตุฉุกเฉิน

ต้องมีการกำหนดคน กำหนดหน้าที่ บทบาทเตรียมพร้อม เพื่อลดการสับสนในการสั่งงาน เช่น ผู้บัญชาการเหตุฉุกเฉิน ผู้ควบคุมเหตู ผู้ประสาน ผู้อำนวยการเหตู หัวหน้าฝายวิศวกรรม หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย หัวหน้ารักษาความปลอดภัย หัวหน้างานต่างๆ ในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย

สำหรับเหตุการณ์ที่เล็กน้อยไม่รุนแรงที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือพนักงานทั่วไปสามารถระงับเหตุการณ์ได้ทันทีก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในแผนกู้ภัย

ท่านควรทำการประเมินโอกาสการเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจมีผลกระทบต่อ OH&S เพื่อทำการจัดทำขั้นตอนสำหรับการตอบโต้เหตุอย่างมีประสิทธิผล ขั้นตอนหรือแผนฉุกเฉินนี้สามารถระบุต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งใดหรือรวมกันก็ได้ ในกรณีที่ใช้ควบรวมกับสำหรับซ้อมไฟใหม้หรือซ้อมฉุกเฉินสำหรับสิ่งแวดล้อม ให้ระวังว่าอาจหลุดประเด็นด้าน OH&S

ในการระบุสถานการณ์นี้ให้พิจารณาทั้งงานที่ทำเป็นประจำและไม่ประจำ รวมทั้งช่วง เริ่มเดินเครื่อง หรือ ปิดการซ่อมใหญ่ การก่อสร้างหรือระหว่างการเคลื่อนย้าย

แผนฉุกเฉินนี้ต้องได้รับการทบทวนในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่อาจมีผลกระทบเช่น การเปลี่ยนแผนผังโรงงานต่อการเส้นทางอพยพ

องค์กรควรมีการประเมินความเสี่ยงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนี้จะส่งผลกระทบต่อพนักงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยให้พิจารณาครอบคลุมพนักงานที่อาจมีปัญหาด้านการได้ยินหรือมองเห็นด้วย และแน่นอนต้องรวมถึงพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว สัญญาจ้าง ผู้เยี่ยมชม ชุมชนข้างเคียง หรือ อื่นๆ

ควรต้องพิจารณาผลกระทบด้าน OH&S เป็นพิเศษโดยเฉพาะต่อบุคคลที่ทำหน้าที่ตอบโต้เหตุฉุกเฉินเช่น ดับเพลิง

ข้อมูลที่ต้องนำมาพิจารณากำหนดสถานการณ์ที่อาจเป็นเหตุฉุกเฉินอาจได้มาจาก

  • ข้อกำหนดกฎหมาย
  • อุบัติการณ์ที่เคยเกิดก่อนหน้าและเหตุฉุกเฉินที่ประสบเหตุ
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับองค์กรคล้ายๆกัน
  • ข้อมูลในเวปไซด์ หรือ องค์กรต่างๆ

แผนฉุกเฉินต้องมีลักษณะอย่างไร

การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงและความเสียหายของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลนี้รายละเอียดในแผนงานจัดการต่อภาวะฉุกเฉินนี้ ต้องกำหนดมาตรฐาน วิธีการ/ขั้นตอน ที่ละเอียดเพียงพอต่อการทำให้ความรุนแรงและความเสียหายของอุบัติเหตุนั้นลดลง!

อะไรคือวัตถุประสงค์ในการเตรียมแผนฉุกเฉิน

  • เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ และจำกัดความเสียหายที่จะเกิดต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุด
  • ช่วยผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย รักษาชีวิตผู้ปฏิบัติตามแผน และผู้ที่บาดเจ็บจากเหตุฉุกเฉิน
  • เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกระดับในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางการประสานความร่วมมือ
  • เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้สำหรับภาวะฉุกเฉิน
  • เพื่อให้ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองโดยการฝึกซ้อมการปฏิบัติการตามแผนฉุกเฉินและทำให้เกิดความคุ้นเคย
  • เพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกในการช่วยเหลือและกู้ภัย

จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวนี้ ทำให้ควรมีการจัดทำและฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานตามแผนและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องมือสำหรับการปฐมพยาบาลที่ใช้ในแผนฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับองค์กรที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นองค์กรที่อาจก่ออุบัติภัยร้ายแรงหรือเป็นองค์กรที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายระดับร้ายแรง ในแผนฉุกเฉินควรเน้นให้มีการประสานงานระหว่างองค์กรกับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงแผนเตรียมการรับเหตุวินาศกรรม แผนเตรียมการสำหรับภัยธรรมชาติและแผนเตรียมการสำหรับควบคุมฝูงชนด้วย !

ระดับของเหตุการณ์ฉุกเฉิน

   แผนแก้ไขปัญหากรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินของหลายๆองค์กรกำหนดเป็น 3 ระดับ สำหรับจัดการกับเหตุการณ์ที่มีขนาดและขอบเขตต่างๆกัน

  1. สามารถจัดการได้โดยบุคคลในแผนกนั้นๆเอง (หากเป็นความรุนแรงระดับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถจัดการได้เอง ระเบียบปฏิบัติ เกณฑ์วิธีการ เทคนิค ในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินแต่ละกรณีให้มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ เพื่อใช้ในการอบรม เตรียมการ และจัดการกับงานนั้นๆได้เลยขั้นต้น ไม่ต้องรั้งรอให้หัวหน้างานผู้จัดการมาสั่ง ซึ่งอาจทำให้เหตุการณ์บานปลายหรือเสียหายมาก)
  2. ต้องการความช่วยเหลือจากทีมแก้ไขปัญหากรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินในโรงงานและอาจต้องการอพยพคนออกจากโรงงาน
  3. ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกอย่างเต็มที่ อาจต้องอพยพคนในพื้นที่ใกล้เคียงหรือทำการป้องกันอันตราย

** ไม่ใช่ทุกองค์กร/ทุกกรณี ต้องมี 3 ระดับนะครับ เช่น หากท่านมีสารเคมีที่ใช้น้อยนิด ก็ไม่เห็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร หากไม่ต้องขอจากใคร ก็มีฉุกเฉินแบบเล็กๆ กล่าวคือก็ทำให้มี ขั้นตอนการจัดการกับสารเคมีรั่วไหล ตามปกติที่ท่านมีครับผม

การจัดทำแผนกู้ภัยฉุกเฉินและการนำไปปฏิบัติ

แผนกู้ภัยฉุกเฉิน( Emergency response) ควรมุ่งเน้นว่าองค์กรต้องทำอะไรบ้าง ต้องตระเตรียมอะไรบ้าง ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ ในการป้องกันการเกิดการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย และลดผลกระทบต่อผู้ซึ่งประสบเหตุฉุกเฉินนั้น

ขั้นตอนสำหรับการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินควรได้รับการจัดทำและพิจารณาถึงข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ต้องกระชับและชัดเจนเพื่อใช้ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินได้ และต้องพร้อมเรียกหายามเกิดเหตุ หากมีการเก็บเอกสารนี้ในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อีเลขโทรนิคใดๆที่อาจเรียกใช้ไม่ได้ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ ต้องมีเอกสารชุดสำรองที่พร้อมให้หยิบใช้ในจุดปฏิบัติงาน

ในการจัดทำแผน ต้องพิจารณาถึงการมีอยู่

  • ลักษณะและพื้นที่ของสถานประกอบการ
  • พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น อาคารเก็บวัตถุไวไฟ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์
  • บริเวณโดยรอบ เส้นทางจราจร
  • จำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในแต่ช่วงเวลา
  • ความรู้พื้นฐานด้านการระงับเหตุฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
  • ระบบดับเพลิง เครื่องมือ และ อุปกรณ์ฉุกเฉิน หน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ ชุดปอ้งกันอันตรายจากสารเคมี ชุดผจญเพลิง
  • ตำแหน่งห้องสำคัญ ห้องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ห้องควบคุมไฟฟ้าหลัก ห้องเก็บเอกสารสำคัญ
  • ระบบติดต่อสื่อสารในภาวะปกติและฉุกเฉิน
  • ทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ
  • การทำงานของสัญญาณแจ้งเหตุ ระบบตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซ ระบบดับเพลิง ระบบสนับสนุนอื่นๆ
  • จุดที่ตั้งอำนวยการชั่วคราว พื้นที่สำรอง แหล่งน้ำสำรอง
  • etc

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติร้ายแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ หรือหน่วยบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่นั้น ๆ มีไม่เพียงพอ หรือเอาไม่อยู่ ก็มักมีการขอความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จากพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นพันธมิตรกันมาช่วยการบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งการรับมือกับภัยพิบัติใหญ่ ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และในระดับนานาชาติซึ่งมีแนวโน้มเกิดมาก และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

หากองค์กรเลือกใช้องค์กรภายนอกในการกู้ภัยฉุกเฉิน เช่นการจัดการสารเคมีอันตราย หรือ ห้องปฏิบัติการภายนอก สัญญาจ้างต้องจัดให้มีไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่จำนวนพนักงานมีจำกัด หรือ มีข้อจำกัดด้านทักษะความสามารถ อุปกรณ์การกู้ภ้ย

ขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ควรมีการกำหนดบทบาท อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ ของผู้ที่มีหน้าที่ตอบสนองฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้ตอบสนองในทันที   พนักงานเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมในการจัดทำขั้นตอนแผนฉุกเฉิน (s) เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับรู้ประเภทและขอบเขตของเหตุฉุกเฉินที่คาดหวังให้เขาจัดการ เช่นเดียวกับการเตรียมการประสานงานต่างๆที่จำเป็น

พนักงานกลุ่มนี้ควรมีข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยการกิจกรรมการตอบสนองกู้ภัยได้

ขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ต้องพิจารณากำหนดอะไรบ้าง

  • แผนที่ขององค์กร ที่แสดงถึง

-       บริเวณที่เป็นอันตราย

-       บริเวณอาคารต่างๆ เช่น คลังสินค้า อาคารสำนักงาน เป็นต้น

-       เส้นทางออก

-       บริเวณที่สามารถเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้ เช่น ทางทะเล ทางอากาศ ทางถนน

  • สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่มีความเสี่ยง เช่น สถานที่ข้างเคียง ภูมิประเทศ
  • บริเวณที่ติดตั้ง หรือจัดเก็บอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง สัญญาณเตือนภัย โทรศัพท์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
  • ข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตราย พิจารณาจาก

- ใบแสดงข้อมูลเคมีภัณฑ์เพื่อความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet)

- ป้ายแสดงรายละเอียดของสารเคมีบนภาชนะบรรจุ

- ข้อมูลการระงับอุบัติภัยจากสารเคมีต่างๆ

  • ระบุสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิด และสถานที่
  • รายละเอียดของการดำเนินการจะต้องกระทำในกรณีฉุกเฉิน (รวมทั้งสิ่งที่ต้องกระทำโดยพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ ,ผู้รับเหมาและผู้เข้าชม),
  • ขั้นตอนการอพยพ
  • ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของบุคลากรเฉพาะ ที่มีหน้าที่ตอบสนองและบทบาทในช่วงเกิดภาวะฉุกเฉิน (เช่นเจ้าหน้าที่ผจญเพลิง , เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญการเก็บกวาดสารเคมีรั่วไหล),
  • การสื่อสารในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • การสื่อสารกับพนักงาน (ทั้งในและนอกสถานที่), หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ (เช่นครอบครัว, ชุมชน, สื่อสารมวลชน),
  • ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตอบสนองฉุกเฉิน (ผังโรงงาน, ตำแหน่งของอุปกรณ์การตอบสนองฉุกเฉิน ,ประเภทและสถานที่ตั้งของวัสดุที่เป็นอันตราย, ตำแหน่งปิดเปิด สถานที่ของระบบยูทิลิตี้ ที่อยู่ติดต่อสำหรับผู้ให้บริการการตอบสนองฉุกเฉิน)

การเขียนแผนกู้ภัยฉุกเฉิน (Emergency Response Plan)

แผนกู้ภัยฉุกเฉินมีไว้สำหรับเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือต้องการความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆมาช่วยกันแก้ไขเหตุการณ์ จึงต้องมีแผนเพื่อประสานวิธีการทำงานในการจัดการกับเหตุการณ์นั้น

วิธีการเขียนแผนจะเริ่มจากการประเมินเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นและมีระดับความรุนแรงที่จะทำให้ต้องใช้แผนกู้ภัยฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ที่เล็กน้อยไม่รุนแรงที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือพนักงานทั่วไปสามารถระงับเหตุการณ์ได้ทันทีก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในแผนฉุกเฉินแต่

การที่จะช่วยผู้ตกในอันตราย รักษาชีวิต ผู้บาดเจ็บได้ เมื่อวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน ต้องมีการออกแบบอาคารให้ทนระเบิดหรือทนไฟ ห้องที่ควบคุมการผลิตต้องมีระยะห่างต้องมีการป้องกันภายในให้ปลอดภัยจากอันตรายร้ายแรง ต้องออกแบบทางหนีในอาคารติดตั้งสัญญาณอัตโนมัติทำให้เอื้ออำนวยต่อการอพยพและควบคุมเหตุการณ์ ต้องมีการให้ฝึกซ้อมรับเหตุเพื่อให้สามารถอพยพออกมาจากอาคารได้อย่างเป็นระเบียบไม่ตื่นกลัวไม่อลหม่าน ผู้รับเหมาผู้ติดต่อ การรอความช่วยเหลือจากทีมปฏิบัติการและกองดับเพลิง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายสำหรับทีมปฏิบัติการที่เผชิญเหตุ ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุฉุกเฉินการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และการเคลื่อนย้าย การประสานงานแพทย์และโรงพยาบาลกรณีเกิดเหตุหมู่มาก การส่งต่อที่ราบรื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นการวางแผนไว้ล่วงหน้าทำให้สามารถลด การเกิดอาคารถล่ม ห้องควบคุมการผลิตพังออกจากอาคารไม่ได้ การเหยียบกันระหว่างอพยพ การถูกทอดทิ้งเมื่อบาดเจ็บ การปฐมพยาบาลและการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธี การได้รับการช่วยเหลือจากราชการที่เชื่องช้า เป็นต้น

เริ่มเขียนอย่างไรดี

เริ่มโดยการทำการ สำรวจเพื่อการวางแผน โดยทำการ สำรวจอาคาร อันตรายและการป้องกัน, สำรวจหาแนวทางช่วยชีวิต เช่นทางหนีไฟ, สำรวจหาแนวทางระงับเหตุฉุกเฉิน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการดับเพลิง, สำรวจหาสิ่งที่จะเพิ่มความรุนแรง เช่นกระบวนการที่อาจเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่อง ขบวนการผลิตที่เป็นอันตราย

หลังจากทำการ สำรวจเสร็จ ให้ทำการร่างผัง

  • ตำแหน่งแผนผังสถานประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย ตำแหน่ง ลักษณะอาคาร ทางเข้าทางออก ถนนที่ใช้
  • เส้นทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ ทางเข้าออกในอาคาร ตำแหน่งลิฟต์หน้าต่าง
  • ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงระบบน้ำดับเพลิง
  • ตำแหน่งติดตั้งสัญญาณเตือนภัย
  • แหล่งเก็บอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ดับเพลิง รถดับเพลิง อุปกรณ์ปฐมพบาบาล
  • ตำแหน่งศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน หน่วยปฐมพยาบาล
  • บริเวณที่มีเก็บสารเคมีมากๆ
  • ตำแหน่งที่ตั้งของสถานประกอบการณ์ภายนอกที่สัมพันธ์ที่จะขอความช่วยเหลือ

ครบแล้วจึงเริ่มเขียนแผนรับเหตุฉุกเฉิน

หัวข้อสำคัญที่จะต้องมีอยู่ในการเขียนแผนฉุกเฉิน

ควรต้องประกอบด้วยหัวข้ออย่างน้อยดังนี้

  1. ผู้รับผิดชอบในการเขียนและแก้ไขปรับปรุงแผน เราจำเป็นต้องระบุชื่อหรือตำแหน่งผู้รับผิดชอบไว้ในแผน เพื่อให้มั่นใจว่าแผนกู้ภัยได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา มิฉะนั้นเมื่อถึงคราวต้องใช้ อาจพบว่าบุคคลต่างๆที่อยู่ในแผนกู้ภัยนั้นได้ออกไปจากองค์กรแล้ว หรือ ระบบต่างๆภายในสถานที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอันมีผลกับแผนกู้ภัยที่ได้วางเอาไว้
  1. การเตือนภัยและการสื่อสารตามสายงาน (Notification & Communication) จำเป็นต้องระบุเนื่องจากอาจมีการลืมและข้ามขั้นตอนที่ถูกต้องจนมีผลให้การช่วยเหลือที่จำเป็นมาถึงล่าช้าหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดสนองตอบต่อการขอความช่วยเหลือโดยปราศจากการกลั่นกรอง
  1. การระดมพลและการกู้ภัย (Activation & Response)

เพื่อให้ทีมงานทราบถึงการเข้ารายงานตัวและการตระเตรียมตนเองเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ ควรมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้

    • แผนผังการบังคับบัญชาฉุกเฉิน (Emergency response org.)
    • บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ (Roles & responsibilities)
    • การร้องขอความช่วยเหลือ (Requesting assistance)
    • ขั้นตอนและวิธีการรายงาน (Reporting procedure)
  1. ขั้นตอนการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ (Response procedure) 

เพื่อระบุถึงการประเมินเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นและขั้นตอนการกู้ภัยในสถานการณ์ดังกล่าว

  1. ระบบสั่งการหรืออำนวยการ (Command System)

เพื่อให้ทราบถึงระบบการสั่งการและบทบาทของแต่ละหน่วยงานภายในผังแสดงสายบังคับบัญชาฉุกเฉิน (Emergency Response Organization) รวมถึงการประสานงานกับภาครัฐทำให้การผสมผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการกู้ภัยเป็นไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว เพราะทุกคนจะเข้าใจในหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมายมาและเข้าใจว่าหน่วยงานอื่นจะช่วยเหลืองานของตนอย่างไร

รายละเอียดในหัวข้อนี้จะบอกถึงหน้าที่และบทบาทของแต่ละหน่วยงานในผังการบังคับบัญชารวมถึงรายละเอียดของงานที่ในแต่ละตำแหน่งต้องทำหรือตระเตรียมไว้

  1. วิธีการติดต่อและหมายเลขติดต่อกับสมาชิกของทีมกู้ภัย (Response Team member contact) รายชื่อของสมาชิกและหมายเลขติดต่อจะต้องได้รับการแก้ไขโดยผู้รับผิดชอบที่ระบุไว้ในข้อ 1 ทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลของส่วนบริการที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลของส่วนบริการมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ทันที ดังนั้นควรรวบรวมและจัดทำให้อ่านง่ายพร้อมใช้งานได้ทันที โดยทั่วไปข้อมูลประกอบด้วย ชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ผู้ที่จะติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ

  1. รายการอุปกรณ์กู้ภัยที่มีอยู่ (Equipment list)

นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่เรามีแล้ว เราควรระบุถึงอุปกรณ์ที่เราสามารถขอยืมมาใช้ได้ทันทีจากองค์กรอื่นๆที่มีสัญญาผูกพันต่อกันด้วย รายการเครื่องมีอจะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแล้วเราจะสามารถหาอุปกรณ์ที่ต้องการในเวลาฉุกเฉินได้หรือไม่และจากที่ใด หากประเมินแล้วพบว่ามีไม่พอหรือหาจากองค์กรอื่นไม่ได้ ก็ต้องทำการจัดซื้อจัดหาเพื่อบรรจุเข้าไว้ในรายการอุปกรณ์กู้ภัยที่จำเป็น

  1. รายละเอียดการดำเนินการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ต่างกัน

การปฏิบัติการแก้ไขภาวะฉุกเฉินขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งผู้อำนวยการตามแผนมีหน้าที่ตัดสินใจสั่งการตามข้อมูลที่ได้รับ เพื่อตัดสินว่าควรดำเนินการอย่างไรกับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้นแผนฉุกเฉินจึงต้องวางแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนในแต่ละสถานการณ์และระดับความรุนแรง โดยกำหนดแผนงานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมวิธีปฏิบัติในการตอบโต้ สถานการณ์ของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามโครงสร้างอำนาจหน้าที่และการประสานงานระหว่างกัน

อุปกรณ์กู้ภัย

องค์กรควรพิจารณาและทบทวน อุปกรณ์และอุปกรณ์ป้องกันและระงับเหตุในกรณีฉุกเฉินและวัสดุที่ต้องการ

อุปกรณ์การตอบสนองเหตุฉุกเฉินและวัสดุ ที่อาจจำเป็นในการดำเนินการระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ใช้ในการอพยพ ,ใช้สำหรับการตรวจสอบการรั่วไหล ,ถังดับเพลิง, อุปกรณ์ตรวจสอบ สารเคมี / ชีวภาพ / รังสี , อุปกรณ์ป้องกันและชุดป้องกันการปนเปื้อน และอุปกรณ์ทางการแพทย์

อุปกรณ์การตอบสนองฉุกเฉินควรมีอยู่ในปริมาณที่เพียงพอและเก็บไว้ในสถานที่ที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ต้องมีการเก็บไว้อย่างปลอดภัยและได้รับป้องกันจากการเสื่อมเสีย อุปกรณ์เหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบและ/หรือการทดสอบตามช่างเวลาปกติ เพื่อให้แน่ใจว่า จะใช้งานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอุปกรณ์และวัสดุ ที่ใช้เพื่อปกป้องบุคลากรที่ดำเนินการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และต้องแจ้งข้อจำกัด ของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และให้การฝึกอบรมในการใช้ให้

สถานที่ ประเภท ปริมาณและพื้นที่การเก็บรักษา (s) สำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉิน ต้องได้รับการประเมินระหว่างการทบทวนและทดสอบขั้นตอนฉุกเฉิน

แผนการฝึกอบรมและการฝึกซ้อม

การฝึกอบรมและการฝึกซ้อมจะต้องทบทวนและซักซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อหาข้อบกพร่องและเป็นการช่วยทำให้ทีมงานมีความเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากขึ้น

ให้เกิดความคุ้นเคย กับโครงสร้างอาคาร ทางหนีไฟ สถานที่เก็บ สถานที่แจ้งเหตุ สถานที่สะสมสารอันตราย แหล่งน้ำ

พนักงานควรได้รับการอบรมว่าจะเริ่มต้นในการตอบโต้กับเหตุการฉุกเฉินตามขั้นตอนที่กำหนดได้อย่างไร โดยกำหนดหัวข้ออบรมให้กับพนักงานที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินและมีระบบตรวจสอบว่าได้มีการกระทำการอย่างเคร่งครัดมั่นใจได้ว่าได้มีการอบรมครบถ้วนจริง พนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีคุณวุฒิและสามารถที่จะทำงานตามภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย

หลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับภาวะฉุกเฉิน ควรมีลักษณะที่ สอดคล้องกับสถานการณ์ของภาวะฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง, จำลองสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้น , สามารถดำเนินการต่อภาวะฉุกเฉินได้จริง

การทำการฝึกซ้อมอาจต้องทำทันทีในกรณีที่

  • เริ่มนำแผนมาใช้
  • มีผู้ปฏิบัติงานใหม่ๆมาเป็นจำนวนมาก
  • มีเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ๆ
  • มีการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนให้ทันสมัย
  • เมือฝึกซ้อมแล้วพบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมาก

ข้อกำหนดที่ระบุความจำเป็นในการอบรมซ้ำและการสื่อสารตอกย้ำกิจกรรมต่างๆควรมีการพิจารณาจัดให้มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆที่มีผลกระทบต่อแผนฉุกเฉินนี้

การฝึกซ้อม

การทดสอบการกระทำตามแผนฉุกเฉินควรได้รับการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรและผู้ให้บริการฉุกเฉินภายนอก จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง OH &S ได้

การฝึกซ้อมควรทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยต้องทดสอบการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการติดต่อหน่วยงานอื่นๆอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นเช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ไม่เหมาะสมหรือไม่สะดวกในการติดต่อ เพราะอาจเป็นหมายเลขที่เปลี่ยนไปใช้เป็นหมายเลขแฟ็กซ์แทน

ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมจะต้องมีการประเมินผลเพื่อหาช่องวางที่จะปรับปรุงพัฒนาแผนและทีมงานให้ดีขึ้น การประเมินจะต้องมีทั้งการชมเชยและระบุถึงช่องว่างที่ควรปรับปรุง

ประเด็นคือ เราจะตอบโต้ได้เร็วพอไหม ทันทีไหม พร้อมไหม

การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินนี้ ควรกระทำร่วมกับผู้ให้บริการภายนอกที่ให้บริการฉุกเฉิน เพื่อปรับปรุงการสื่อสารระหว่างกันและสามารถให้ความร่วมมือระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉินหากเกิดขึ้นจริงได้

การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินสามารถใช้ในการประเมิน ขั้นตอนแผนฉุกเฉินและอุปกรณ์ และการฝึกอบรม รวมทั้งเพิ่มความตระหนักของการตอบสนองฉุกเฉิน บุคคลภายใน (คนงาน) และบุคคลภายนอก (เช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงภายนอก) สามารถรวมอยู่ในการฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความตระหนักและความเข้าใจของวิธีการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน

องค์กรควรเก็บรักษาบันทึกของการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน ประเภทของข้อมูลที่จะถูกบันทึกไว้รวมถึงรายละเอียดของสถานการณ์และขอบเขต เหตุการณ์และการกระทำ และผลสำเร็จที่สำคัญหรือปัญหาใด ๆ ควรได้รับการทบทวนกับผู้วางแผนฉุกเฉินและผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม เพื่อแบ่งปันความคิดเห็นและคำแนะนำในการปรับปรุง

ซ้อมไปทำไม

วัตถุประสงค์ หรือผลที่ต้องการจากการทดสอบหรือการฝึกซ้อม เพื่อ

  • เพื่อเกิดความคุ้นเคย ในอาคาร สถานที่ ทางหนีไฟ อุปกรณ์ สถานที่ตั้งอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉิน วิธีการแจ้งเหตุ พื้นที่สะสมเก็บสารเคมี แหล่งน้ำ
  • เพื่อเข้าใจในระบบการสื่อสารขณะเกิดเหตุ
  • คุ้นเคยกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง การใช้เครื่องมือและการปฏิบัติตามขั้นตอน
  • มีประสบการณ์ เกิดความเชื่อมั่น มีทักษะ สามารถระงับเหตุได้เร็ว
  • บุคลากรนอกใน ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีการพิสูจน์ความถูกต้องในรายละเอียดของแผนเช่น เบอร์โทรศัพท์ ประสิทธิภาพของเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ดับเพลิง

เมื่อเหตุผลแห่งการทดสอบฝึกซ้อมเป็นเช่นนี้ วิธีการในการฝึกซ้อม รายละเอียดในฝึกซ้อม รวมทั้งการประเมินผลจะฝึกซ้อมจะสอดคล้องตามผลที่ต้องการ เราสามารถฝึกซ้อมการใช้เครื่องมือรับเหตุแต่ละชนิด ซ้อมการอพยพ ซ้อมการหยุดเครื่องจักร ซ้อมการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ซ่อมการปฐมบาบาล ทดสอบสัญญาณแจ้งเหตุเตือนภัย เป็นต้น

การทบทวนแผนการเตรียมความพร้อม ทำได้ตอนไหน?

การทบทวนแผนการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินและขั้นตอนการตอบสนอง ทำได้โดย

  • ตามตารางเวลา ที่กำหนดเองโดยองค์กร,
  • ระหว่างทบทวนฝ่ายบริหาร,
  • เมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร
  • เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลกระทบ ( Plant layout , location, process, machine) และ การดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการป้องกัน
  • หลังจากเหตุการณ์ฝึกซ้อมขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน - ข้อบกพร่องในการตอบสนองฉุกเฉิน
  • การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดทางกฎหมายและอื่น ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองฉุกเฉิน

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินและการตอบสนองขั้นตอน (s) เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ควรจะมีการสื่อสารให้กับบุคลากรทีมีหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ความต้องการฝึกอบรมอาจต้องมีการประเมินเพื่อปรับเปลี่ยน

หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น การรายงานและการสอบสวนเป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังจากประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน การรายงานนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่มีส่วนร่วมโดยแต่ละส่วนงานแยกกัน ตั้งแต่เมื่อได้รับทราบ การตอบโต้เหตู จนเหตุการณ์สงบ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน การส่งรายงานไปยังภาครัฐ และบริษัทประกันภัย โดยปกติหากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นรุนแรง จะเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่น ตำรวจท้องที่ กองความปลอดภัย กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ควรได้รับการจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉินเพื่อ ช่วยในการฟื้นฟู ลูกจ้าง อาคาร เครื่องจักร วิธีในการเริ่มดำเนินการผลิต และอุปกรณ์ เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้หลังจากเหตุการณ์ยุติลง

ลูกจ้างที่ช่วยในแผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติการณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้กลับเป็นปกติจนสามารถเข้าทำงานได้และใช้เวลาไม่นาน

แผนการฟื้นฟูวิกฤตของอุบัติการณ์ ควรครอบคลุม

  • หน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงการประสานงานระหว่างองค์กร
  • การสอบถามเกี่ยวกับการบาดเจ็บ และการสอบสวนอุบัติเหตุ
  • การสอบถามเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติการณ์
  • การให้คำแนะนำปรึกษา
  • ข้อกำหนดทางกฎหมายและบริษัทประกันภัย

นอกจากไฟไหม้ แล้วมีอะไรที่มักพิจารณาเป็นเหตุฉุกเฉิน

เหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีอยู่มากมายหลายเหตุการณ์ด้วยกัน อาทิเช่น การบาดเจ็บของบุคคล อัคคีภัย ระเบิด สารเคมีหกล้นรั่วไหล ก๊าซพิษรั่ว การทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติภัยทางธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม ตลอดจนอุบัติภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น จลาจลและการก่อการร้าย เป็นต้น การที่มีการคาดการณ์เหตุฉุกเฉินต่างๆ ไว้ล่วงหน้าและมีการวางแผนการตอบสนองเหตุไว้ก็จะสามารถช่วยลดระดับการบาดเจ็บลงไปได้มากและยังทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่อุปกรณ์ วัสดุและทรัพย์สินต่างๆ ก็ลดน้อยลงไป

สถานการณ์ที่ควรคำนึงถึง

  • การเกิดอุบัติการณ์ใดๆก็ตาม ที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ เจ็บป่วยอย่างรุนแรง
  • ไฟไหม้ / เครื่องจักรระเบิด /สารเคมีเกิดปฏิกิริยา
  • สารเคมีหกล้น / การรั่วไหลของสารเคมีอันตราย หรือ ก๊าซ
  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ไฟดับ หรือน้ำหล่อเย็นขาด ที่ทำให้กระบวนการเกิดเหตุฉุกเฉินนอกแผนงานปกติ
  • อุบัติเหตุจากการขนส่ง ขนถ่ายวัตถุดิบ ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษหรือไวไฟ
  • การก่อวินาศกรรม การก่อจลาจล การขู่วางระเบิด
  • การเกิดเหตุภัยพิบัติตามธรรมชาติหรือสภาพอากาศอันเลวร้าย
  • เกิดการทำร้ายร่างกาย ก่อจารจล ก่อการร้าย
  • เกิดการแพร่เชื้อโรคร้าย
  • เครื่องจักรหลักเกิดล้มเหลว ระเบิด เสียหาย
  • อุบัติเหตุจากการเดินทาง

ต้องระบุพื้นที่ ที่คาดว่าจะเกิดเหตุไหม

ท่านระบุเหตุฉุกเฉินเพื่อจัดการ การกำหนดว่าเหตุการณ์นั้นๆจะเกิดที่พื้นที่ใด จะทำให้ท่านรู้ว่าจะอบรมคนใด วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องจัดเตรียมการไว้ที่ไหน ผังอาคารที่ต้องมี รายการเครื่องจักร อุปกรณ์ การติดตั้งสัญญาณ การตรวจสอบความปลอดภัยต้องเน้นเรื่องอะไรที่พื้นที่ไหน มากกว่านั้นจะทำให้ท่านรู้ว่าอะไรบ้าง พื้นที่ไหนบ้าง ที่ต้องซักซ้อม เมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ ก็จะได้รู้ว่าต้องมีการมาปรับแผนฉุกเฉินอย่างไร

เหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

พื้นที่ที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉิน

·       ช่างตกจากที่สูง / เครื่องจักรหนีบมือ / รถขนส่งคว่ำ /เครนล่วง / ความดันในหม้อไอน้ำเกิน /น้ำหล่อเย็นแห้ง / ถังไซโลล้มทับ

·       ไฟไหม้ การระเบิด

·       ก๊าซรั่ว หก

·       อุบัติภัยทางธรรมชาติ- ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม สภาพอากาศที่เลวร้าย

·       งานล้มเหลว เครื่องจักรหรือโครงสร้างเสียหาย

·       ไฟฟ้าดับ ไฟตก ไฟกระพริบ ก๊าซหมด

·       การชนกัน

·       การก่อการร้าย การจับเป็นตัวประกัน

·       พื้นที่ผลิต

·       ซ่อมบำรุง

·       บริเวณเก็บสารเคมีอันตราย

·       บริเวณเก็บกากของเสียอันตราย

·       ถังเก็บน้ำมัน เชื้อเพลิง สารเคมีขนาดใหญ่

·       กระบวนการเริ่มเดินเครื่องจักรและหยุดเครื่องจักร

·       ภาชนะอัดความดันสูง

·       รางหรือถนนลำเรียงวัสดุ

·       จุดรับส่งสินค้าขึ้นลงจากยานพาหนะ

·       โรงบำบัดกากของเสียและจุดปล่อยของเสีย

·       รางระบายน้ำฝน

xxxxx

อะไรคือการวางแผนรับเหตุฉุกเฉิน

เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อ ระงับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกินกำลังความสามารถของเจ้าหน้าที่หรือพนักงานคนใดคนหนึ่งที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันทีและต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีการจัดองค์กรรับเหตุฉุกเฉิน เพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆตามแผนฉุกเฉินที่วางไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะได้ปฏิบัติการตามบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างทันท่วงทีและไม่สับสน ตลอดจนประสานงานกับสถานประกอบการใกล้เคียงและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

แผนฉุกเฉินต่างจากมาตรฐานการปฏิบัติงานความปลอดภัยทั่วไปอย่างไร

เหตฉุกเฉินเป็นการทำงานในภาวะไม่ปกติ เกิดกะทันหัน ต้องการได้รับการจัดการเร่งด่วนแก้ไขทันที ซึ่งเหตุฉุกเฉินนี้แยกเป็นสองประเภทคือ เหตุฉุกเฉินที่คาดการณ์ได้ กับ เหตุฉุกเฉินที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

เหตุฉุกเฉินที่คาดคะเนได้

เนื่องจากสามารถคาดคะเนได้ เราจึงควรจัดทำมาตรฐานพื้นฐานเพื่อความปลอดภัยไว้ล่วงหน้า รวมถึงการฝึกฝนปฏิบัติอยู่เสมอ จะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม สำหรับงานฉุกเฉินที่คาดคะเนได้ล่วงหน้า

สิ่งที่ต้องกระทำในงานฉุกเฉินเป็นงานที่มีความถี่ในการเกิดต่ำมาก และเมื่อเกิดเหตุผิดปกติก็มักไม่ตรงที่คาดการณ์หรือไม่สามารถจดจำได้ แผนรายละเอียดต่างๆก็จะไม่มีประโยชน์ ด้วยเหตุนี้มาตรฐานจึงเน้นในการปฏิบัติงาน ให้สามารถตอบสนองรองรับเหตุให้จงได้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่า

การเขียนมาตรฐานการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินจึงเขียน เฉพาะจุดเน้นประเด็นสำคัญ เลือกหัวข้อไม่ต้องมาก ง่ายกระชับ ชัดเจน สิ่งที่ต้องกระทำภายใต้มาตรฐานในการทำงานนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของความรุนแรงและความเสียหายหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

เหตุฉุกเฉินที่มิอาจคาดคะเนได้

หากคาดคะเนไม่ได้ จะทำให้ไม่สามารถกำหนเกณฑ์พื้นฐานในการทำงานล่วงหน้าได้ และไม่มีเวลาพอในการอบรมก่อนทำงานจริง หรือไม่สามารถที่จะใช้ในการแจ้งบอกพนักงานถึงจุดสำคัญได้ ด้วยเหตุผลนี้เขาต้องฟังคำสั่งจากหัวหน้างานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรกำหนดเพียงแต่ว่า ใครรับผิดชอบสั่งการอะไร และผู้สั่งการนี้ต้องได้รับการฝึกมาตรฐานการคำสั่งปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินเป็นอย่างดี   และแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉินชนิดนี้จะเป็นแผนที่ท่านสามารถค้นหาโดยกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย

ลักษณะของการปฏิบัติงาน

ลักษณะงาน

การปฏิบัติงานที่มีลักษณะประจำ

เป็นการทำงานด้วยวิธีที่เหมือนๆกัน หรืองานประจำวันที่ซ้ำไปซ้ำมา มีความถี่มากกว่าหนึ่งครั้งในระยะเวลา 10 วัน

การปฏิบัติงานที่มีลักษณะไม่ประจำ

เป็นการทำงานที่ไม่ประจำเชิงแผนงาน

·       มีการทำงานซ้ำไปซ้ำมาแต่มีการปฏิบัติที่มีความถี่ต่ำกว่า

·       หรือมีการปฏิบัติงานที่ผิดแผกไปจากปกติที่กำหนดไว้แน่นอน

·       มีความถี่น้อยกว่าหนึ่งครั้งในระยะเวลา 10 วัน

·       (การทดสอบการเดินเครื่อง การซ๋อมแซมเครื่องจักร การตรวจสอบถอดรื้อตามรอบเวลา งานก่อสร้างที่เปลี่ยนแบบตามโครงการไปเรื่อยๆ)

·       ความถี่ ในการทำกิจกรรมนั้นส่งผลต่อรูปแบบมาตรฐานการปฏิบัติงานและความเคยชินและการจดจำของผู้ปฏิบัติงาน

 

การปฏิบัติการฉุกเฉิน

การทำงานในภาวะไม่ปกติที่เกิดกะทันหัน ต้องการได้รับการจัดการเร่งด่วนแก้ไขทันที ซึ่งมี 2 ประเภท คือ คาดการณ์ได้กับคาดการณ์ไม่ได้

-END-